พระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลลำปาง (บทสะท้อนความรุ่งเรือง ยุคทองแห่งอาณาจักรล้านนา) ข้อมูลนิทรรศการ งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 2 ปี 2565
○ เกริ่นนำ
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของงานพุทธศิลป์ประเภทงานพุทธปฏิมาในพื้นที่จังหวัดลำปางนั้น สามารถจัดจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งหลักฐานพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ กลุ่มพระพิมพ์ดินเผาศิลปะหริภุญชัย มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ที่ขุดค้นพบบริเวณแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี วัดร้างปันเจิง และวัดพระธาตุหมื่นครื้น นอกจากนี้ยังปรากฏพุทธรูปศิลปะแบบลพบุรีหรือศิลปะแบบละโว้ คือพระพุทธรูปปางนาคปรกแกะสลักจากหินทรายแดง ลงรักปิดทอง ประดิษฐานอยู่ที่วิหารพระเจ้าละโว้หรือวิหารพระเจ้าศิลา อันตั้งอยู่ทิศตะวันตก องค์พระธาตุลําปางหลวง พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่มีตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาว่า เป็นพระพุทธรูปที่พระบิดาของพระนางจามเทวีหรือพระเจ้ากรุงละโว้ ได้มอบให้กับพระราชนัดดา คือ เจ้าอนันตยศ เจ้าผู้ครองเมืองนครลำปางไว้มาสักการบูชา นอกจากหลักฐานที่กล่าวมาแล้วนั้น ในช่วงต้น
สมัยล้านนาได้ปรากฏตำนานที่กล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งที่เคยประดิษฐานอยู่ในเมืองนครลำปางคือ พระสิกขีปฏิมากร กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินสีดำ ซึ่งอ้างมีที่มาเชื่อมโยงมาตั้งแต่ยุคสมัย พระนางจามเทวี ซึ่งภายหลังจากเมืองนครลำปางพ่ายแพ้สงครามกับกองทัพของสมเด็จ พระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงได้มีการขนย้ายอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกจากเมืองนครลำปางในปี พ.ศ.2058 (สุรพล ดำริห์กุล, 2562: 25-26)
ในช่วงยุคทองของล้านนาได้มีการฟื้นฟูและอุปถัมภ์พุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดลำปาง ปรากฏเป็นหลักฐานการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในเมืองนครลำปางเป็นจำนวนมาก รวมถึงการอัญเชิญพระแก้วมรกตจากเมืองเชียงรายมาประดิษฐานที่เมืองนครลำปาง เป็นเวลาถึง 32 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงยุคทองของเมืองนครลำปาง มีการสร้างวัดวาอารามขึ้นเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันหมื่นหาญแต่ท้อง บุตรชายหมื่นลกนครได้ขอพระเจ้าติโลกราชเข้ามาฟื้นฟูสร้างวัดพระธาตุลำปางหลวง และวัดพระธาตุเสด็จรวมถึงวัดอื่นๆ ภายในตัวเมืองนครลำปาง ซึ่งปัจจุบันยังคงปรากฏพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยยุคล้านนาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มพระพุทธรูปหล่อสำริด ซึ่งพบประดิษฐานอยู่ตามวัดสำคัญต่างๆ ทั่วเมืองลำปาง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อำเภอเกาะคา อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ และอำเภอห้างฉัตร โดยพระพุทธรูปสกุลช่างลำปางที่สร้างขึ้นในยุคนี้เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะ อันเกิดจากการผสมผสานระหว่างงานศิลปกรรมแบบล้านนาและงานศิลปกรรมสุโขทัย ซึ่งส่งอิทธิพลด้านงานพุทธศิลป์สู่งานช่างลำปางอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง พระประธานในพระวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง พระเจ้าทองทิพย์ วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม พระประธานในวิหารวัดกู่คำ พระเจ้าทันใจ วัดพระเจ้าทันใจ และพระประธานวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปปูนปั้น และพระพุทธรูปประเภทอื่นๆ ที่มีการกล่าวถึงยุคสมัยการสร้างมาตั้งแต่ยุคล้านนา อันได้แก่ พระประธานปูนปั้น ขนาดใหญ่ภายในวิหารพระพุทธ ซึ่งถือเป็นวิหารหลังแรกของวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ยังคงปรากฏสภาพโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบ และเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา
ภายหลังจากล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ายังปรากฏหลักฐานการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปกระจัดกระจายอยู่ตามชุมชนรอบนอก ได้แก่ ชุมชนวัดพระธาตุลำปางหลวง ชุมชนวัดไหล่หินหลวง ชุมชนวัดพระธาตุเสด็จ หรือชุมชนหัวเมืองขนาดเล็กอื่นๆ ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางเมือง ในขณะที่ตัวเมืองนครลำปางนั้นประชากรส่วนใหญ่ได้ถูกกวาดต้อนไปพม่าในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 โดยทิ้งประชากรให้อยู่รักษาเมืองเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้วัดที่อยู่ภายในตัวเมืองนครลำปางส่วนใหญ่ขาดผู้ดูแลอุปถัมภ์และกลายสภาพเป็นวัดร้าง งานพระพุทธปฏิมาที่ปรากฏพบอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปางปัจจุบัน ส่วนใหญ่จึงเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่นับตั้งแต่ช่วงของการฟื้นฟูบ้านเมืองภายหลังจากการขับไล่พม่าออกจากดินแดนล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นมา
ภายหลังจากช่วงการฟื้นฟูบ้านเมือง ได้ปรากฏนามครูช่างประเภทงานพุทธปฏิมา ที่สำคัญ ได้แก่ ครูบาจินา แห่งวัดหลวงแสนเมืองมา ครูบาสังฆราชเจ้าเทวะแห่งวัดท่าผา ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี แห่งวัดปงสนุกเหนือ และครูบามหาเถรสำคัญอีกหลายรูป ที่มีบทบาทในการเป็นช่างและถ่ายทอดภูมิความรู้แก่เหล่าลูกศิษย์รวมถึงการสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ประจักษ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละครูช่างนั้นจะมีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนให้เห็นจริตฝีมือและทัศนะความงามของพุทธปฏิมาตามรูปแบบในอุดมคติ ซึ่งมักจะสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นบ่งบอกถึงตัวตนของผู้สร้างเสมอ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่างานพุทธปฏิมาของแต่ละครูช่างจะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันถึงการสืบทอดสายครูช่างผู้รังสรรค์สร้างพระพุทธรูปและสามารถบ่งบอกถึงความเป็นสกุลช่างลำปาง คือขั้นตอนและกระบวนการรวมถึงพิธีกรรมที่มีการสืบทอดตามสายครูของเมืองนครลำปาง โดยยังพบหลักฐานตำราการสร้างพระพุทธรูปรวมถึงขั้นตอนและพิธีกรรมที่บันทึกไว้เป็นเอกสารโบราณตามวัดสำคัญต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง นอกจากนี้ยังคงปรากฏการให้ความสำคัญกับครูช่าง ซึ่งพบว่ายังมีการลำดับสายครูช่างที่เป็นพระมหาเถระในคำกล่าวโอกาสเวนตานหรือโองการไหว้ครูในพิธีกรรมต่างๆ ของเมืองลำปางในปัจจุบันอีกด้วย
จากห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปในพื้นที่จังหวัดลำปางนั้น พบว่า มีการสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ช่วงยุคทองของล้านนาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปรากฏพระพุทธรูปที่สร้างด้วยวัสดุต่างๆ เป็นจำนวนมากตามเจตนาและวัตถุประสงค์ของการสร้างพระพุทธรูปนั้น โดยในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดลำปางมักจะมีพระพุทธรูปสำคัญประจำท้องถิ่นเสมอ โดยแต่ละองค์นั้นมักจะผูกโยงเรื่องราวอภินิหารหรือตำนานที่มา เป็นการย้ำเตือนถึงความศักดิ์สิทธิ์และความพิเศษของพระพุทธรูปนั้นๆ โดยสามารถแบ่งกลุ่มที่มาของพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดลำปางได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก เป็นพระพุทธรูปสำคัญอันมีที่มา ตำนานหรือประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับนิทานปรัมปรา อภินิหาร ผู้วิเศษ หรือเหล่าเทวดา ดังเช่น ตำนานที่มาของพระแก้วมรกตดอนเต้า หรือพระเจ้าทองทิพย์องค์อินทร์ ที่ผูกโยงเรื่องราวถึงพระอินทร์แปลงกายมาเป็นช่างผู้สร้าง
กลุ่มที่สอง ได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุพิเศษ เช่น สร้างจากแก้วมรกต สร้างจากทองคำหรือโลหะมีค่าอื่นๆ สร้างจากผงดอกไม้ หรือสร้างจากไม้แก่นจันทน์ เป็นต้น
กลุ่มที่สาม ได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจากบุคคลสำคัญของบ้านเมือง เช่น พระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวง พระเจ้าทองทิพย์ วัดบ้านลู หลวงพ่อดำหรือพระพุทธนิโรคันตรายตุรทิศฯ และกลุ่มสุดท้าย
กลุ่มที่สี่ ได้แก่ พระพุทธรูปสำคัญด้วยเหตุที่เป็นพระพุทธรูปโบราณ ซึ่งในกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มพระพุทธรูปสำคัญที่พบเป็นจำนวนมากที่สุด
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆคะ
ตอบลบ