TKP HEADLINE

พระพุทธสิกขีปฏิมา (พระประจำเวียงอาลัมพางค์นคร พ.ศ ๑๒๕๑-๒๐๕๗)

 


พระพุทธสิกขีปฏิมา (พระประจำเวียงอาลัมพางค์นคร พ.ศ ๑๒๕๑-๒๐๕๗) ข้อมูลนิทรรศการ งานหลวงเวียงละกอน ครั้งที่ 2 ปี 2565  ไฟล์เพื่อการดาวน์โหลด ด้านบน รวม 2 ไฟล์ภาพ 

เนื้อหาต้นฉบับ

พระสิกขีปฏิมาประดิษฐานที่เวียงอาลัมพางค์นครได้อย่างไร ?

พระเจ้าอินทรรเกิงกรเมื่อทรงครองเมืองเขลางค์นครแล้วได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ชาวเขลางค์นครและทรงสร้างวัดวาอารามเป็นอันมาก ภายหลังได้ทูลเชิญพระนางจากเทวีพระมารดาเสด็จจากนครหริภุญไชยมายังเมืองเขลางค์นครเพื่อดูแลปรนณิบัติและประทับเพื่อปฏิบัติธรรมในศรัทธาของพระองค์ เมื่อพระนางจามเทวีได้เสด็จมายังเมืองเขลางค์นครในปี พ.ศ. ๑๒๕๑ นั้น พระนางได้รับพระราชทานพระพุทธสิกขีปฏิมาจากเจ้าเมืองพุกามแห่งพม่าเพื่อทรงแสดงไมตรีที่พระนางทรงเลื่อมใส ส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยดีเสมอมา  พระนางได้ถวายพระพุทธสิกขีปฏิมานั้นให้แก่พระเจ้าอินทรเกิงกรเพื่อให้เป็นพระประจำเมืองโดยนำไปประดิษฐานไว้ที่เสตกูฎาราม(วัดกู่ขาว)ในบริเวณเวียงอาลัมพางค์ พระพุทธสิกขีปฏิมาองค์นี้จึ่งมีความสำคัญต่อเมืองเขลางค์อาลัมพางค์นครเป็นอันมาก  แม้ปัจจุบันยังไม่พบเจอเลยก็ตาม ผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองลำปางและชาวนครลำปางเองควรได้ทราบถึงความเป็นมา ความสำคัญและพุทธลักษณะของพระพุทธสิกขีปฏิมานี้ อันเคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ปรากฏหลักฐานว่ามีอยู่จริง

 ความเป็นมาของพระสิกขีปฏิมา

ตามตำนานที่จารึกพระพุทธสิกขีปฏิมาเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากศิลาดำ ซึ่งในตำนานที่เล่าขานกันว่าพระพุทธสิกขีปฏิมาทำจากศิลาดำที่เคยเป็นแท่นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อคราวเสด็จมาเทศนาธรรมแก่ชาวประชาในเมืองแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นกลายเป็นแท่นศิลาที่ประชาชนกราบไหว้บูชาเพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เนื่องจากเคยเป็นศิลาที่ประทับของพระพุทธองค์  ต่อมาพระเจ้าราชาธิราชองค์หนึ่งในรัมมนะประเทศ ( คือรามัญเทสะ ประเทศของชาวมอญ ) ซึ่งเป็นพระบิดาพระเจ้ามนูหะเม็งได้นำแท่นศิลาดำก้อนดังกล่าวมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปออกมา ๕ องค์  พระพุทธสิกขีปฏิมาทั้ง ๕ องค์นี้ภายหลังกระจายไปอยู่ในนครต่างๆได้แก่ ที่เมืองมหานคร (นครปฐม) ๑ องค์ ๑  เมืองละโว้ (ลพบุรี) องค์ ๑ เมืองสุธรรมวดี(เมืองสะเทิม) องค์ ๑ และอีก ๒ องค์อยู่ที่เมืองรัมมนะประเทศ ( ซึ่งดร.อัครินทร์ พงษ์พันธุเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านรามัญศึกษาให้ความเห็นว่าคือ เมืองกลิงครัฐ และเมืองจิตตะกอง ) ต่อมาพระเจ้าอนุรุทธแห่งกรุงพุกามยกทัพไปตีเมืองสุธรรมวดีได้พระพุทธสิกขีปฏิมากลับไปยังกรุงพุกาม จากนั้นกษัตริย์ผู้ครองเมืองมหานคร(นครปฐม) ได้ถวายพระพุทธสิกขีปฏิมาแก่เจ้าอนุรุทธอีกองค์หนึ่ง  พระองค์จึงได้ถวายให้แก่พระนางจามเทวีและพระนางถวายให้แก่พระเจ้าอินทรเกิงกรดังที่กล่าวมาแต่ต้น ซึ่งก่อนหน้านี้พระนางจามเทวีได้นำพระพุทธสิกขีปฏิมาองค์ที่ประดิษฐาน ณ เมืองละโว้มาด้วยคราเสด็จมาครองเมืองหริภุญไชยและให้ประดิษฐานที่วัดลมักการาม(วัดกู่ละมัก)ในเมืองหริภุญไชย

 การสร้างและพุทธลักษณะของพระพุทธสิกขีปฏิมา

เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยการแกะสลักจากศิลาดำแบบนูนต่ำแต่มิได้เจาะจงชัดเจนว่าเป็นปางใด ขนาดองค์ไม่ใหญ่โตมากนักอาจจะขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วหรือระหว่าง ๔ - ๙ นิ้ว จึงสะดวกในการเคลื่อนย้าย(จากความเห็นของ ผศ. พงษ์เกษม สนธิไทย ) เป็นศิลปะปาละที่ได้รับอิทธิพลจากกษัตริย์ราชวงศ์ปาละประเทศอินเดียผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายวชิรยานที่แยกตัวมาจากนิกายมหายาน  

ลักษณะเด่นเฉพาะขององค์พระพุทธสิกขีปฏิมาคือ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง สวมมงกุฏกลีบรูปตาบสามเหลี่ยมเรียงกันบนกระบังหน้ากรอบพักตร์ที่ด้านข้างพระกรรณอาจมีทัดดอกไม้และผูกผ้ากรรเจียก โดยผ้านั้นมักห้อยตกลงมาปรกพระอังสาทำให้เปรียบเสมือนว่าเป็นหงอนนกยูง ซึ่งชาวอินเดียถือว่าเป็นนกชั้นสูงเป็นสัญญลักษณ์ของพระอาทิตย์   ชาวไทยนิยมเรียกว่า "เทริดขนนก"(เชิดขนนก) มงกุฏแบบนี้เป็นที่นิยมเลียนแบบใช้กับรูปสลักกษัตริย์ เทวดา และพระพุทธรูปทรงเครื่องในพุทธศิลป์ทวาราวดี เขมร ลพบุรี พุกาม จนเป็นเรื่องปกติ เมื่อพระนางจามเทวีนำพระพุทธรูปในลักษณะนี้มาประดิษฐานในเมืองหริภุณไชยและเขลางค์นคร ก็ได้รับการเคารพนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองและสืบทอดคตินี้มาถึงสมัยอาณาจักรล้านนา ปางของพระพุทธสิกขีที่พบจะแตกต่างกัน บางแห่งเป็นปางปฐมเทศนา ปางมารวิชัยซึ่งยังเป็นศิลาดำแกะสลักนูนต่ำสวมมงกุฏทรงเทริดขนนกยูง ภายหลัง มีการพัฒนาเป็นพระพุทธรูปองค์ลอยทรงเทริดขนนกยูงหล่อด้วยทองสำริดโดยช่างสกุลล้านนาเรียก "พระสิขีเจ้า"เป็นต้น

ชื่อเรียก"พระสิขี"หรือ"พระสิกขี"

 "พระสิขี" หมายถึงชื่อของอดีตพระพุทธเจ้าที่มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๘ พระองค์ในจำนวนดังกล่าวมีชื่อ "สิขี"ซ้ำกันถึง ๕ พระองค์ดังนั้นการสร้างพุทธสิขี ๕ พระองค์อาจมีนัยยะหมายถึงพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่า "สิขี"ทั้ง ๕ พระองค์นี้ก็ได้

 ส่วน "พระสิกขี" นั้นแปลว่านกยูง ดร.พรศิลป์ รัตนชูเดช แห่งมจร สวนดอก เชียงใหม่ แสดงทัศนะว่า "น่าจะหมายถึงพระพุทธรูปทรงเทริด (มงกุฏยอดตัด) ประดับขนนกยูงที่มีตัวอย่างปรากฏเป็นปางต่างๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในประเทศอินเดีย เป็นต้น  ฉะนั้นหากกล่าวถึง"พระพุทธสิกขี" ยอมหมายถึง พระพุทธรูปที่เป็นศิลปะปาละ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔) อาจจะเป็นปางใดก็ตามที่สวมมงกุฏทรงเทริดขนยูง

บทสรุปที่ชวนคิด 

 ถึงแม้พระพุทธสิกขีปฏิมาพระประจำเมืองอาลัมพางค์ในอดีตนับจาก ปี พ.ศ. ๑๒๕๑ ที่อัญเชิญมาเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวเขลางค์อาลัมพางค์นคร จนถึงคราวต้องออกจากวัดกู่ขาว ( เสตกูฎาราม ) บริเวณพื้นที่ของเวียงอาลัมพางค์ไปในปี พ.ศ. ๒๐๕๗ โดยทัพอยุทธยาที่ยกมาตีเมืองละกอนยุคล้านนา ( เมื่อวันอังคารเดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๘๗๗ ) นานกว่า ๘๐๐  ปีจวบจนปัจจุบัน คงยังฝังอยู่ในความทรงจำของชาวลำปางที่บอกเล่าสืบทอดกันมาไม่จบสิ้นเป็นเหมือนพระพุทธรูปที่คาใจของศรัทธาสาธุชนและคนรักในประวัติศาตร์เมืองลำปาง ดุจดั่งหนามติดคาอยู่กลางใจ จนได้กล่าวได้ว่า พระพุทธสิกขีปฏิมา ณ วัดกู่ขาวแห่งอาลัมพางค์นครที่ประดิษฐานอยู่ในใจของชาวลำปางหรือได้ชื่อว่า  "พระพุทธสิกขีปฏิมาในความทรงจำ "   ใช่ไหมครับ 





Share this:

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจ

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย "ลำปางรักษ์เมืองเก่า"

 
Copyright © 2018 ลำปางรักษ์เมืองเก่า. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand