TKP HEADLINE

มารู้จักวัดสิงห์ชัย (วัดป่าแภง) :วัดบ้านเกิดพระญาพรหมโวหาร

                         

หากท่านเดินทางจากหอนาฬิกาบริเวณห้าแยกไปตามถนนบ้านเชียงรายผ่านวัดเชียงรายถึงสามแยกริมน้ำวังแล้วเลี้ยวซ้ายตามริมน้ำบนถนนทิพย์ช้าง ( ถนนวังซ้ายเดิม) ราว ๕๐๐ เมตรจะพบวัดสิงห์ชัยอยู่ริมทาง ด้านหน้าวัดอาจดูแคบไปนิดเพราะหน้ารั้ววัดด้านขวามือจะมีร้านค้าห้องแถวขวางอยู่บริเวณหน้ารั้ววัดด้านซ้ายมือจะปรากฏอนุสาวรีย์พระญาพรหมโวหารตั้งอยู่บนแท่นทรงสี่เหลี่ยมในท่านั่งชันเขาเขียนหนังสือ นี่ถือเป็นจุดสำคัญที่นำชื่อเสียงมาสู่วัดสิงห์ชัยและเป็นที่มาของการพาท่านมาแวะเยี่ยมวัดสิงห์ชัยแห่งนี่ครับ

    


 นับเป็นโอกาสดีมากที่ได้พบกันท่านเจ้าอาวาสวัดสิงห์ชัย ( พระครูพิบูลสมณธรรม ) และได้พูดคุยสอบถามทั้งเรื่องของความเป็นมาของวัดและศิษย์ก้นกุฏิอย่างพระญาพรหมโวหาร 

( หนานพรหมินทร์ ) เด็กบ้านสิงห์ชัยผู้ได้รับยกย่องจากคนเมืองลำปางและล้านนาว่าเป็นกวีเอกแห่งล้านนา กวีร่วมสมัยกับพระยาสุนทรโวหารหรือสุนทรภู่ผู้โด่งดังแห่งเมืองสยาม แม้ท่านเจ้าอาวาสจะคุยถึงพระญาพรหมโวหารและพูดถึงความตั้งใจในการร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านพร้อมมอบหนังสืออนุสรณ์เพื่อแจกแก่ผู้ร่วมงานในวันเปิดอนุสาวรีย์ฯพระญาพรหมโวหารเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ แต่คงขอยังไปพูดถึงพระญาพรหมโวหารในโอกาสต่อไปคงขอใช้เนื้อที่นี้ให้ตรงตามหัวเรื่องคือรู้จักรวัดสิงห์ชัยก่อนนะครับ

       จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันและในหนังสืออนุสรณ์ฯที่กล่าวไว้แล้ว ก็ต้องขอขอบคุณผู้เขียนเรื่องราวที่เชี่ยวลึกกับประวัติศาสตร์เมืองลำปาง อ.มงคล ถูกนึกที่ให้รายละเอียดมากมายและครอบคลุมประวัติฯเมืองลำปางอย่างละเอียดรวมถึงการเชื่อมโยงเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในลำปางทั้ง ๓ ยุค

        วัดสิงห์ชัย เดิมมีปรากฏอยู่หลายชื่อที่เริ่มปรากฏเริ่มแรกชื่อวัดป่าแภกจากหลักฐานเดิมเชื่อว่าเป็นวัดอรัญวาสี มีปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาที่กล่าวถึงพุทธศาสนาสายเถรวาทโดนเฉพาะการเผยแพร่ศาสนาสายเถระวาทลัทธิลังกาวงศ์รุ่นที่ ๒ พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์องค์ ที่๑๑ แห่งราชวงศ์เม็งรายมาเผยแพร่และสร้างวัดป่าแดดที่เชียงใหม่เป็นศูย์กลางในปี พ.ศ. ๑๙๘๕ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักกลับมาเผยแพร่มากในนครลำปางในสมัยของเจ้าหมื่นแก้วนคร ( เจ้าหมื่นหาญแต่ท้อง )ในปี พ.ศ. ๑๙๙๒ ชื่อวัดป่าแภกจึงเริ่มเริ่มขึ้นใกล้ริมน้ำวังโดยมีวัดแสงเมืองมาเป็นศูนย์กลาง และเมื่อถึงช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงต้นที่เมืองล้านนาร่วมกับกรุงเทพฯขับไล่อิทธิพลพม่า การรวบรวมผู้คนหัวเมืองล้านนาเกิดการอพยมเคลื่อนย้ายชาวเชียงราย เชียงแสน เมืองพะเยา เมืองสาด เมืองฝางเข้ามารวมกัน จึงมีชาวเชียงรายบางส่วนเข้ามาสมทบในย่านที่ชาวเชียงรายเข้าสร้างบ้านและวัดบริเวณตอนทิศใต้ฝั่งซ้ายของแม่น้ำวังแต่เนื่องจากภายในกำแพงเมืองยุคที่ ๓ บริเวณวัดเชียงรายและบ้านเชียงรายมีผู้คนอยู่แล้วชาวเชียงรายที่มาสมทบในรอบหลัง ราวพ.ศ.๒๓๖๗ จึงต้องไปอยู่นอกกำแพงบริเวณวัดป่าแภก

กลายเป็นบริเวณนั้นคนเชียงรายเรียกจะกันว่ากันว่าวัดเชียงรายเหนือหมายถึงวัดเชียงรายเดิมและวัดเชียงรายใต้ก็คือวัดป่าแภกบริเวณอกกำแพงวัดนั่นเอง และบริเวณแถบนี้ในนครลำปางยุค ๓ จะเรียกว่า ปลายเวียงด้านใต้ คนละฟากกันหัวเวียงด้านเหนือ วัดป่าแภกที่มีชุมชนใหม่ของคนเชียงรายที่หนาแน่นขึ้นการดูแลทำนุบำรุงศาสนาก็ดีขึ้นตามลำดับแม้กระนั้นชื่อวัดก็ยังคงเดินจนกระทั่ง ลุถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เมื่อเจ้าพ่อบุญวาทย์วงศ์มานิตมาบูรณะวิหารวัดขึ้นมาใหฒ่จึงได้ทรงตั้งชื่อใหม่ว่า “ วัดสิงห์ชัย”จวบจนปัจจุบัน

        วัดสิงห์ชัย ( วัดป่าแภก ) เท่าที่มีหลักฐานรายชื่อเจ้าอาวาสจากอดีตจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

   ๑)    พ.ศ. ๒๓๓๔ -  ๒๓๗๑    ครูบาเจ้าอุปปละ ( ครูบาเจ้าอุปนันโทเถระ ) ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสิมการศึกษาเล่าเรียนแก่พระญาพรหมโวหาร

   ๒)   พ.ศ. ๒๓๗๑ - ๒๔๓๔     ครูบาเจ้าชินาวังสะ ( ครูบาเจ้าชินาลังกา )

   ๓)   พ.ศ. ๒๔๓๔ -๒๔๓๕     ครูบาเจ้าศิวิไชย

   ๔)   พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๗๓    ครูบาปัญญา หรือญาวิไชยภิกขุ ( พระครูรักขิตคุณ )

   ๕)   พ.ศ. ๒๔๗๓ - ๒๕๐๑      พระครูมณีวรรณศิริปัญโญ

   ๖)    พ.ศ.  ๒๕๐๑      พระกาวิไชย

   ๗)    พ.ศ.  ๒๕๐๒    พระครูถาวรกิจโกศล

   ๘)      พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๓๒    พระครูศรีปริยัติกิติ์

     ๙)     พ.ศ.  ๒๕๓๒ - ปัจจุบัน

     ปัจจุบันวัดสิงห์ชัยเป็นวันในสังกัดมหานิกาย ถือว่าเป็นวันอยู่กลางชุมชนได้พัฒนากิจการคณะสงฆ์ด้วยดีเสมอมาและมีความตั้งใจที่จะให้ผู้คนชาวล้านนาได้รู้จักและเชิดชูเกียรติแก่พระญาพรหมโวหารอันถือว่าเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนบ้านสิงห์ชัยเป็นเด็กลำปางและที่สำคัญยังเป็นกวีเอกของล้านนาที่มีส่วยส่งเสริมการรังสรรค์วรรณกรรมด้านกวีนิพนธ์และจรรโลงอักขระอักษรล้านนาเพื่อฟื้นฟูสิ่งดีงามในอดีตให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงรากเง่าของภาษาล้านนาให้อยู่คู่กับเมืองล้านนาและหมู่เฮาชาวคนเมืองคู่กับเมืองไทยสืบไป    แล้วคอยพบกับประวัติและผลงานของพระญาพรหมโวหารกวีเอกแห่งล้านนาชาวนครลำปางหนาต่อไปนะครับ

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------


Share this:

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจ

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย "ลำปางรักษ์เมืองเก่า"

 
Copyright © 2018 ลำปางรักษ์เมืองเก่า. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand