TKP HEADLINE

วัดสวนดอกกลางเวียงลำปาง



            วันสวนดอกแห่งเมืองลำปางเป็นวัดในสังกัดมหานิกายตั้งอยู่กลางเมืองห่างจากห้าแยกหอนาฬิกาไปตามถนนบุญวาทย์ (ถนน ๙ มิถุนาเดิมหรือชื่อเรียกขานของคนลำปางสมัยก่อน ๘๐ปีที่แล้วว่าถนนสายกลาง) เส้นทางเข้าตัวเมืองหรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า”ในเวียง” ราว ๑ กิโลเมตร พื้นที่วัดตั้งอยู่ริมถนนบนเนื้อที่ ๒ไร่๓งาน  จากประวัติความเป็นมาวัดสวนดอกจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๕๙ และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔  ถือเป็นวัดที่สร้างขึ้นในช่วงต่อระหว่างเมืองลำปางปลายยุค ๒ ใกล้ต้นยุคที่ ๓ ซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่กำแพงเมืองเก่ายุคที่ ๓ มีประตูเมืองสวนดอกอยู่ระหว่างประตูเมืองเชียงรายกับประตูชัย  จากคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระครูสิริธรรมวิภัชซึ่งดำรงค์ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลสวนดอกอีกตำแหน่ง ) ว่า วัดสวนดอกนั้นเป็นวัดราษฎร์ที่ศรัทธาชาวบ้านซึ่งมีทั้งชาวไทยพื้นเมือง (คนเมือง) และชาวพม่า (ม่าน)ที่ทำมาหากินอยู่ในระแวกริมน้ำวังร่วมใจกันสร้างขึ้น  เดิมตัววิหารวัดสร้างด้วยไม้ทั้งหลังและเนื่องจากบริเวณวัดจะมีต้นไม้ใหญ่ ว่าน สมุนไพรและมีสวนดอกไม้นานาชนิดเต็มไปหมดเวลาพี่น้องชาวบ้านมาทำบุญที่วัดก็จะเด็ดดอกไม้ในวัดนั่นแหละมาบูชาพระจึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดสวนดอก”



    วัดสวนดอกมีส่วนเกี่ยวพันกันเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายคือเจ้าพ่อบุญวาทย์วงษ์มานิตด้วยพระองค์ท่านได้มาบวชเรียนและจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ในสมัยที่พระอธิการปัญญาวงศ์เป็นเจ้าอาวาส แม้จำเป็นวันขนาดไม่ใหญ่โตมากนักก็เป็นวัดเก่าของเมืองลำปางแห่งหนึ่งกลางใจเมืองและมีส่วนส่งเสริมการศึกษาตั้งแต่การเปิดโรงเรียนราษฎร์ให้การศึกษาระดับประถมศึกษาคู่มากับโรงเรียนวิสุทธิวิทยากรของวัดเชียงรายซึ่งภายหลังมอบให้เทศบาลดำเนินการต่อเป็นโรงเรียนเทศบาล ๔ในปัจจุบัน แม้กระนั้นยังมีส่วนส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์คู่มากับวัดเชียงรายโดยเปิดโรงเรียนปริยัติธรรมบริการเปิดสอนแก่พระเณรตราบจนปัจจุบัน   น่าเสียดายที่วิหารเรือนไม้หลังเดิมรวมทั้งกุฏิภายในวัดถูกเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เอกสารและหลักฐานสำคัญต่างๆก็มอดไหม้ไปในกองเพลงในสมัยของท่านอธิการศรีวงศ์เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทำให้หลักฐานและร่องรอยประวัติศาสตร์น่ารู้ในชุมชนบางส่วนขาดหายไปคงเหลือแต่คำบอกเล่าและหลักฐานข้างเคียงจากวัดอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรืออาจหลงเหลือจากศรัทธารุ่นเก่าๆและลูกหลานที่พอจะมีหลงเหลือท้าทายให้เราๆท่านๆได้สืบค้นเพื่อเพิ่มหลักฐานการเรียนรู้และสืบทอดสู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป


Share this:

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่ได้ให้ความสนใจ

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย "ลำปางรักษ์เมืองเก่า"

 
Copyright © 2018 ลำปางรักษ์เมืองเก่า. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand